ประเพณีของชุมชน
- Mon
- 13 ก.พ. 2562
- ยาว 1 นาที
• ประเพณีสงกรานต์ (ว่านอะต๊ะ)

ชาวมอญถือวันที่ 13 14 และ 15 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหญ่เช่นเดียวกับไทย ส่วนวันที่ 11 กับ 12 จะช่วยกันทำขนมที่คนมอญเรียกว่า "กวานฮะกอ" คือขนมกวน หรือกาละแม พอถึงวันที่ 13 14 และ 15 จะทำบุญโดยนำข้าวปลาอาหารไปถวายพระที่วัดทั้ง 3 วัน บ้างก็ปล่อยปลา ช่วงกลางวันลูกหลานจะพากันรดนํ้าดำหัวผู้ใหญ่

ชาวมอญเชื่อกันว่าวันสงกรานต์ถือเป็นการเคลื่อน การย้าย การเปลี่ยนราศี โดยถือว่าวันที่พระอาทิตย์โคจรจากราศีมีน เข้าสู่ราศีเมษ เป็นการเปลี่ยนศักราชใหม่ ดังนั้นจึงถือว่าวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่
ประเพณีอื่น ๆ อันเนื่องด้วยประเพณีสงกรานต์ มีดังนี้
• ประเพณีคํ้าต้นโพธิ์ (ท็อก - ส้อย)

ชาวมอญถือว่าการค้ำต้นโพธิ์เป็นการค้ำจุนศาสนา และการทำกันระหว่างวันที่ 13 - 15 เมษายนของทุกปี โดยถือเอาวันที่ 14 เป็นหลัก
เหตุที่นำวันที่ 14 เป็นหลัก เพราะว่าวันที่ 14 อยู่ระหว่างวันสิ้นปีกับวันขึ้นปีใหม่ ที่คนไทยเรียกกันว่าวันเนานั้นเอง ชาวมอญถือเป็นวันไม่ดี ต้องทำบุญที่เป็นสาธารณประโยชน์ เช่น ค้ำต้นโพธิ์ ซ่อมสะพาน ซ่อมทางเดิน
• ประเพณีสรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ (ฮะเหริ่งช่าง)
บรรดาลูกหลานต้องรดน้ำค้ำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ที่นับถือ ด้วยการนำโสร่งหรือเสื้อใหม่ไปไหว้ผู้เฒ่าผู้แก่แล้วนำน้ำผสมน้ำอบรดลงบนฝ่ามือเพื่อขอพร

• ประเพณีปล่อยนก ปล่อยปลา (ฮะเหล่ฮะเจมฮะเหล่ก๊ะ)

ประเพณีนี้เกิดจากความเชื่อว่าการปล่อยนกปล่อยปลา เป็นการสะเดาะเคราะห์ให้แก่ตัวเอง ทำให้มีอายุยืนยาว ชาวมอญจึงนิยมปฏิบัติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะเป็นช่วงหน้าแล้งพอดี
ชาวมอญถือว่าหงส์เป็นสัตว์ที่สูงศักดิ์และมีประวัติยาวนานนับตั้งแต่สมัยพุทธกาล จึงใช้หงส์เป็นสัญลักษณ์ประเทศรามัญนับแต่นั้นมา ชาวมอญในประเทศไทยจึงรับหงส์มาเป็นสัญลักษณ์เช่นกัน
ดังที่พบเห็นได้ตามวัดต่าง ๆ ของมอญ ซึ่งมีเสาหงส์อยู่หน้าวัดเรียกเป็นภาษามอญว่า "เกี๊ยะหยั่งโหน่มั่ว" และเป็นที่มาของแห่หงส์ - ธงตะขาบ เป็นธงที่ชาวมอญนิยมทำขึ้นในโอกาสต่าง ๆ เช่น ใช่ในงานฉลองพระพุทธรูป เบิกเนตรพระพุทธรูปหรือบูชาบรรพบุรุษ โดยเฉพาะใช้ฉลองเทศกาลสงกรานต์ ชาวมอญนิยมชักธงตะขาบขึ้นสู่เสาหงส์ตามวัดมอญประจำหมู่บ้าน

Opmerkingen